รศ.ดร.สมพงษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การแจกแท็บเล็ตนั้น เท่าที่ได้ศึกษามาจะเห็นว่า ส่วนใหญ่ควรนำไปแจกเด็กที่มีวุฒิภาวะและเป็นวัยที่กระตือรือร้น ในการฝึกทักษะเสาะแสวงหาข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่นำแท็บเล็ตมาแจกเด็ก ป.1 ซึ่งเป็นวัยที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ฉะนั้นเด็กเหล่านี้จะไปเสาะแสวงหาข้อมูลได้อย่างไร อีกทั้งจากงานวิจัย การแจกแท็บเล็ตนั้น ถือว่าไม่ได้คำนึงถึงความรอบด้านของตัวเด็ก และไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต
“หากพรรคเพื่อไทยยังดันทุรัง ที่จะแจกแท็บเล็ตเพียงอย่างเดียว ก็จะก่อให้เกิดอันตราย หรือเป็นการฆ่าเด็กไทยทางอ้อม เพราะเด็กส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในเรื่องที่ไม่เหมาะสม อย่างการสร้างพื้นฐานให้เด็กคุ้นเคยกับการใช้อิเลคทรอนิกส์ ซึ่งนำไปสู่เรื่องเกม ตามวัยที่เด็กอยากรู้อยากเห็นต่อไป ที่สำคัญคำว่าแจก อีกนัยหนึ่งก็หมายถึง “หายนะ” นั่นเอง เพราะไม่ได้สอนให้คนพร้อมที่จะรับอย่างมีสติ” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
รศ.ดร.สมพงษ์ แสดงความกังวลหากมีการแจกแท็บเล็ตว่า เมื่อเด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากๆ สังคมรอบตัวเด็กจะอ่อนแอลง ทั้งสังคมที่เป็นธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของมนุษย์จะหายไปจากตัวเด็ก แต่กลับกันสังคมจะมีเด็กที่อ่อนแอมากขึ้น และเกรงว่าเด็กจะมีพฤติกรรมที่แฝงไปด้วยความรุนแรง การแข่งขันและความเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เมื่อมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนพื้นฐานการศึกษาแบบไทยๆ ทั้งการฝึกเขียน ฝึกอ่าน และใฝ่หาความรู้ตามตำรับตำรา ให้ถูกผ่องถ่ายจากหน้าหนังสือเรียนมาเป็นหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้นโยบายการศึกษาของพรรค พท.ระลอกนี้ ดูเสี่ยงที่จะ “แลกหมัด” กับคะแนนนิยมพอสมควร เพราะหากประสบผลสำเร็จ ก็ถือว่าเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในการ “ปฏิรูปการศึกษาไทย” เลยทีเดียว กลับกันถ้าผลลัพธ์จากการแจกแท็บเล็ต กลายเป็นการหยิบยื่นมีดให้กับเด็ก ป.1 นโยบายโก้หรูดังกล่าวคงจะเกิดอาการ “เมาหมัด” จนส่งผลให้ “ล้มไม่เป็นท่า” เช่นเดียวกัน
แต่มีสิ่งหนึ่งที่พรรค พท.ต้องกลับไปคิดให้ตกผลึกว่า วุฒิภาวะสำหรับเด็กอายุ 6 – 7 ขวบนั้นเพียงพอแล้วจริงหรือ...ที่จะใช้แท็บเล็ตไปในแนวทางที่ถูกที่ควร เพราะอย่าลืมว่าเด็กวัยนี้ ไม่ต่างอะไรกับ “แก้วเปล่า” ที่ รอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ รอบตัวมาเติมให้เต็มแก้ว ถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา อยากเสพสื่อที่รุนแรง สื่อที่ยั่วยุทางเพศเข้าไป นั่นหมายถึง “หายนะ” สำหรับเด็กที่เป็นรากฐานของประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน
ในประเด็นนี้ รศ.ดร.สมพงษ์ เสนอแนะว่า ขณะนี้ถือว่ายังไม่สาย สำหรับนโยบายแจกแท็บเล็ตของพรรค พท.ที่ยังกลับไปคิดให้รอบคอบขึ้นได้ อย่างการหากลยุทธ์ป้องกันให้รอบด้าน พร้อมกับรับฟังเหตุผลจากเสียงรอบๆ ด้าน แต่ทั้งนี้พรรค พท.ก็ต้องแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กไทยทุกคน ตามนโยบายที่ประกาศให้ได้ ขณะเดียวกันอย่าลืมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตชิพเทคโนโลยีส่งต่างประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อผลิตแท็บเล็ตอย่างดี ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อยอด จากนั้นต้องจ้างมหาวิทยาลัยต่างๆ มาทำซอฟแวร์ เกี่ยวกับเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ควบคู่กันไป
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนทางด้านสังคมไทย ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอย่างเต็มที่ 100% เช่น เด็กปัจจุบันที่อายุ 7 ขวบ มีบัตรประชาชน จะต้องควบคุมการเข้าร้านเกม หรือร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ และต้องตรวจบัตรอย่างจริงจัง พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายการจำหน่ายซอฟแวร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้ แก่เด็ก อีกทั้งต้องเตรียมการความพร้อมบุคคลากร “ครู” ที่จะทำอย่างไร ให้เกิดการเชื่อมโยงกับหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ลักษณะนี้
“แม้พรรค พท.ทำนโยบายแจกแท็บเล็ตตามที่ได้ประกาศ พร้อมกับหามาตรการรองรับไว้แล้ว แต่อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นในเรื่องนี้ไว้ด้วย เพราะเรื่องดังกล่าวจะมีค่าคอมมิชชั่นสูง และเรื่องเหล่านี้เคยมีประวัติมาแล้วทั้งสิ้น เพราะราคาแท็บเล็ตต่อเครื่องอยู่ที่ประมาณ 4,000 - 5,000 บาท ถ้าต้องแจกทั้งประเทศต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นการทำนโยบายนี้ต้องระมัดระวัง แม้ด้านหนึ่งมีภาพที่หรูหรา แต่อีกด้านหนึ่งก็มีมุมมืดเช่นกัน” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวเตือน
เหรียญมักมีสองด้านเสมอ แม้หลายฝ่ายจะมองด้านมืด หรือจุดด้อยของนโยบาย “เจ้าบุญทุ่ม” ของพรรค พท.ที่อาจะส่งผลต่อการศึกษาของเด็กไทยในอนาคตก็ตาม แต่ทางเจ้าของนโยบายเอง มีความเห็นด้านบวกที่แตกต่างออกไป
โดยนายภาวิช ทองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พท.ตัวแทนเจ้าขอนโยบาย ชี้แจงว่า ในประเด็นการชูนโยบายหาเสียงเรื่องการแจกแท็บเล็ตนั่น เป็นเสมือนดารานำเท่านั้น แต่นโยบายหลักของการศึกษา มีรายละเอียดอีกมาก ซึ่งอยากจะเรียนว่า อุปกรณ์แท็บเล็ตนั่น ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญของการศึกษา แต่เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมของระบบการศึกษาเท่านั้น สำหรับเรื่องข้อกังวลต่างๆ ที่สังคมส่วนใหญ่เป็นห่วง ขอยืนยันว่าสำหรับเทคโนโลยีเหล่านี้ ทางพรรค พท.สามารถหามาตรการรองรับได้
“แต่ถ้าไม่มีการแก้ไขด้านการศึกษาเลย ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าอย่างลำบาก เพราะการศึกษาตกต่ำ คุณภาพของประเทศก็จะตกต่ำตามไปด้วย” นายภาวิช กล่าว
นายภาวิช ชี้แจงต่อว่า ที่สังคมมองว่าการแจกแท็บเล็ต จะกลายเป็นดาบสองคมหันกลับมาทำร้ายเด็ก หากนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ตรงนี้ไม่อยากให้สังคมมองภาพแคบเกินไป จะเป็นการจำกัดการเรียนรู้ของเด็ก เพราะอีกมุมหนึ่งของเทคโนโลยีก็มีศักยภาพทางบวกอยู่มาก เนื่องจากเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับคุณภาพการเรียนการสอนได้ โดยเริ่มจากการจัดอบรมครู ซึ่งในเรื่องนี้ครูจะต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เช่น โครงการเข้าอบรมครูหลักสูตรของกระทรวงศึกษา โดยประเด็นสำคัญ คือ จะเอาอะไรใส่เข้าไปในหลักสูตรการอบรม ส่วนมาตรการรองรับเรื่องของงบประมาณ ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะเงินกับพรรค พท.ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว และสามารถใช้กลไกอื่นเข้ามาได้ อย่างภาษีจากธุรกิจไอซีที ที่จะนำมาสนับสนุนเรื่องของการศึกษาต่อไป
“ทางพรรค พท.ตระหนักดีว่าการศึกษาของไทยแย่มาก ซึ่งถ้าไม่มีการแก้ไขด้านการศึกษาเลย ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าอย่างลำบาก เพราะการศึกษาตกต่ำ คุณภาพของประเทศก็จะตกต่ำด้วย ดังนั้นจึงได้เขียนร่างวางนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ให้เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยเริ่มจากการพัฒนาคุณภาพความรู้ที่อยู่ในระบบการเรียนการสอน คือ การรื้อหลักสูตร ตำราเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยตั้งเป้าทำให้ได้ภายใน 3 เดือนแรก โดยตรงนี้เราสามารถใช้แท็บเล็ตในการส่งเสริมได้ เพราะขณะนี้ทุกประเทศได้ใช้เทคโนโลยี เพื่อการศึกษามาเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูประบบความรู้หมดแล้ว” นายภาวิช แจงถึงสิ่งที่พรรค พท.ต้องทำอย่างเร่งด่วน
ฉะนั้นเรื่องการแจกแท็บเล็ตแก่เด็ก ป.1 ให้กลายเป็นเด็ก “ไวไฟร์” จากเจ้าแม่โปรเจกอย่าง อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในขณะนี้ กลายเป็น “เดิมพัน” ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนเชิงข่าวสารทั้งในแง่ดีและแง่ลบ มากน้อยไม่แตกต่างกัน อย่างข้อแนะนำให้มีการแยกแจกเป็น “เฟส” หรือแจกเป็นระยะ เพื่อประเมินผลลัพธ์และข้อดีข้อเสีย ก่อนจะมีการขันน็อตให้แน่นขึ้น หรือข้อเสนอที่ว่า อยากให้การหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านแท็บเล็ต เป็นหนึ่งในส่วนประกอบการความรู้นอกตำราเรียน ควบคู่ไปกับการเขียน อ่านหนังสือตามธรรมเนียมเดิมเท่านั้น ซึ่งความเห็นเหล่านี้พรรค พท.ควรจะรับฟัง และเก็บเป็นข้อมูลในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง
แต่สำหรับเสียงสะท้อนจากคุณครูต่างจังหวัด กลับได้แสดงความเป็นห่วงวุฒิภาวะของเด็ก ป.1 ในการหาความรู้นอกตำราเรียนจาก “โลกออนไลน์” โดยเฉพาะ “ภูมิคุ้มกัน” ของเด็กต่างจังหวัด ที่อาจจะรู้ไม่เท่าทันสิ่งยั่วยุเท่ากับเด็กในเมือง ซึ่งอาจจะกลายเป็นอีกหนึ่ง “ช่องว่าง” ที่ทีมยุทธศาสตร์พรรค พท.ต้องหาดินมากลบให้พื้นสม่ำเสมอเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้เมื่อ “ผู้ใหญ่” ต้องการที่จะรื้อระบบการศึกษาแบบไทยๆ ที่คุ้นเคย ให้มีความกระตือรือร้นและวิ่งตามโลกรอบข้างให้ทัน แต่ ”เด็ก” จะรู้เท่าทัน “โลกออนไลน์” ด้วยหรือไม่ คำตอบคงอยู่ที่ผลลัพธ์ในไม่ช้านี้...